ข้อมูลพื้นฐานจังหวัด

1.บรรยายสรุปจังหวัดสกลนคร 

ประวัติจังหวัดสกลนคร

ประวัติเมืองหนองหารหลวง ประวัติเมืองหนองหารหลวงไม่มีหลักฐานปรากฏไว้เป็นลายลักษณ์อักษรนอกจากผู้เฒ่าผู้แก่ของเมืองได้จดจำถ้อยคำของพระบรรเทา กรมการเมืองขุนขันธ์คนเก่ากับเพี้ยศรีคอนชุม ซึ่งเป็นหัวหน้าข้า พระธาตุเชิงชุมว่าหลังจากพระยาสุวรรณภิงคาระสิ้นพระชนม์ลง เหล่าเสนาข้าราชการผู้ใหญ่ชาวเขมรก็ได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาปกครองเป็นเจ้าเมือง หนองหารหลวงต่อกันมาเรื่อยๆ หลายยุคหลายสมัยต่อมาได้เกิดทุกข์ภัยฝนแล้งมา 7 ปี ราษฎรไม่ได้ทำนา เกิดความอดอยากข้าวปลาอาหารไม่มีจะกิน เจ้าเมืองอพยพราษฎรอยู่ที่เมืองหนองหารหลวงไปอยู่ที่เมืองเขมรกันหมด ทิ้งให้เมืองหนองหารหลวงกลายเป็นเมืองร้างในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยครอบครัวมาตั้งรักษาพระธาตุเชิงชุมจนมีผู้คนมากขึ้นแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านธาตุเชิงชุมเป็นเมืองสกลทวาปี โดยตั้งให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์เป็นพระธานีเจ้าเมืองสกลทวาปีคนแรก พ.ศ. 2369 สมัยรัชกาลที่ 3 ได้เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ เจ้าเมืองสกลทวาปีไม่ได้เตรียมกำลังป้องกันเมือง เจ้าพระยาบดินทร์ เดชานุชิต (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพมาตรวจราชการ เห็นว่าเจ้าเมืองกรมการไม่เอาใจใส่ต่อบ้านเมืองปล่อยให้ข้าศึก (ทัพเจ้าอนุวงศ์) ล่วงลำ้ได้โดยง่ายจึงสั่งให้นำตัวพระธานี ไปประหารชีวิตที่หนองทรายขาว พร้อมกับกวาดต้อนผู้คนในเมืองสกลทวาปีไปอยู่ที่กบินทร์บุรีบ้าง ประจันตคามบ้าง ให้คงเหลือรักษาพระธาตุเชิงชุม แต่พวกศรีคอนชุม ตำบลธาตุเชิงชุม บ้านหนองเหียน บ้านจานเพ็ญ บ้านอ่อมแก้ว บ้านธาตุเจงเวง บ้านพราน บ้านนาคีบ้านวังยาง และบ้านพรรณา รวม 10 ตำบล เพื่อให้เป็นข้าปฏิบัติพระธาตุเชิงชุมเท่านั้นในสมัยต่อๆ มา ได้มีราชวงศ์คำ แห่งเมืองมหาชัยกองแก้ว ทางฝั่งซ้ายแม่นน้ำโขง ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ขอสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นใหม่ที่เมืองสกลทวาปีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ราชวงศ์คำ เป็นพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) ในตำแหน่งเจ้าเมืองสกลทวาปี และทรงเปลี่ยนนามเมืองใหม่เป็น “สกลนคร” ตั้งแต่บัดนั้นมา

 

Copyright © 2019. All rights reserved.