การจัดเรทของหนังไทย
หลังจากใช้การเซ็นเซอร์มานาน การตรวจพิจารณาภาพยนตร์ไทยก็ถึงคราวเปลี่ยนผ่าน เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 โดยใช้การจัดเรทติ้งมาแทนที่ “เราคิดว่าการจัดเรทให้โอกาสมากขึ้น" ประวิทย์ให้ความเห็น "ระบบเซนเซอร์เมื่อก่อน เป็นระบบที่คณะกรรมการซึ่งเราก็รู้อยู่ว่ามาจากไหนบ้าง แต่ละคนมีความคิดคร่ำครึโบราณ ซึ่งตรงนั้นก็ไม่ว่านะ แต่เรารู้สึกว่าเขาไม่ใช่คนดูหนัง พอไม่ได้ดู เขาจะไม่เข้าใจความเป็นหนัง หรือเรื่องความจำเป็นที่มันเป็นเครื่องมือสื่อสาร มองกันในแง่ความบันเทิงอย่างเดียว หรือมองว่าหนังต้องเป็นงานที่ทุกคนดูได้ ซึ่งไม่ใช่ เราคิดว่าวิธีคิดแบบนี้ต้องเปลี่ยน มาตรฐานของกรรมการแต่ละชุด แต่ละคนก็ไม่แน่นอน พอมีเรทก็ทำให้การมองหนังสำหรับทุกเพศทุกวัยเปลี่ยนไป มีเรื่องวุฒิภาวะ เรื่องวัยมาเกี่ยวข้อง ตรงนี้เราคิดว่า ทำให้มีอิสระหรืออย่างน้อยมันกว้างขึ้น"
แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ดูดีอย่างที่คิด “แต่เรทติ้งก็มีปัญหาคล้ายๆ กันนะ เรื่องของมาตรฐาน แต่อย่างน้อยบทลงโทษมันไม่ใช่การตัด มันแค่เปลี่ยนจาก น15 เป็น หนัง18+ แล้วยังฉายได้เท่าเดิมเพียงแต่จำกัดคนดู ไม่ได้กระทบตัวหนังเท่าไหร่ แต่ไปกระทบกับคนดู ซึ่งเมืองไทยเรา เรทก็ยังพิกลพิการ เพราะมีเรท ห อยู่ เรท ห คือถ้าตัดเรื่องล่อแหลมเรื่องสถาบันไป มันก็ไม่ควรมีแล้ว เพราะเอาจริงๆ จะมีคนทำหนังที่แตะต้องเรื่องเหล่านี้ไหม เราคิดว่าไม่มีคนกล้าทำนะ เพราะมันมีกฎหมาย 112 เพราะฉะนั้นเรท ห มันมีไว้เพื่ออะไร มันเหมือนเซ็นเซอร์ไม่เชื่อใจวุฒิภาวะคนดูไง ข้อนี้เลยยังเป็นปัญหาอยู่ข้อเดียว"
เข้าชม : 324
|